การปล่อยเงินกู้นอกระบบ ทางกฎหมายแล้ว มีผลอย่างไร
|
---|
การทำสัญญากู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดย่อมมีนิติกรรมที่อาจแยกได้เป็นสองส่วนได้แก่ ส่วนที่ ๑ การกู้ยืมเงินและส่วนที่ ๒ การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ในส่วนการกู้เงินนั้น วัตถุประสงค์ย่อมไม่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงไม่ตกเป็นโมฆะ แต่ในส่วนการคิดดอกเบี้ยเกินอัตรานั้น เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ แต่เนื่องจากตามพฤติการณ์อาจสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาแยกส่วนไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะ ดังนั้น ในส่วนการคิดดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นตกเป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2549 สัญญากู้ยืมเงินส่วนที่เกิน 350,000 บาท เป็นดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วนำมารวมเข้าเป็นต้นเงินกู้ที่ทำขึ้นใหม่เป็นดอกเบี้ยต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ส่วนของต้นเงินที่มาจากดอกเบี้ยที่ไม่ชอบทั้งหมดย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ไม่ทำให้ส่วนของต้นเงินที่ชอบจำนวน 350,000 บาท เสียไปด้วย เพราะพึงสันนิษฐานโดยพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่าโจทก์จำเลยเจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินในส่วนที่ชอบคือต้นเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับก่อน ทั้งที่โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 |
อย่างไรก็ตาม เงินที่ชำระดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาแล้วนั้น จะทำอย่างไรหล่ะ ???ทนายความเชียงใหม่มีคำตอบดังนั้น เงินที่ชำระดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด( เกินกว่า ร้อยละ ๑๕ ต่อปี หรือ ๑.๒๕ ต่อเดือน ) นั้น ให้นำมาหักกับต้นเงินได้เหลือเท่าไหร่ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องร้องได้เพียงนั้น ดังคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด |